วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ลักษณะผู้พิพากษา-Judges

ผู้พิพากษา-Judges


ชื่ออาชีพ
 ผู้พิพากษา Judges
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ผู้พิพากษา
นิยามอาชีพ
 ผู้ปฏิบัติงานผู้พิพากษา-Judges ได้แก่ ผู้มีอำนาจอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวงใน พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ลักษณะของงานที่ทำ
 ตรวจคำคู่ความซึ่งยื่นต่อศาลเพื่อสั่งรับ หรือไม่รับ หรือให้ทำใหม่ หรือให้แก้ไขเพิ่มเติม
ควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี ออกข้อกำหนด เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยเที่ยงธรรม และรวดเร็ว ออกหมายเรียก ออกหมายอาญา
ออกหมายสั่งให้ส่งคนมาจาก หรือไปยังจังหวัดอื่นหรือออกคำสั่งใดๆ
ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาดคำร้อง หรือคำขอ
ไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญา ไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน
นั่งพิจารณาคดี และควบคุมการนำสืบพยานหลักฐานของคู่ความ ตรวจบุคคล วัตถุสถานที่ หรือตั้งผู้เชี่ยวชาญ ใช้ดุลยพินิจวินิจฉัย ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง
พิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีทั้งทางแพ่ง และทางอาญาโดยยุติธรรมตามกฎหมาย
บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา
ทำรายงานการคดี และกิจการของศาลส่งตามระเบียบ
ระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมายหรือโดยประการอื่น ให้เป็นไปโดย ถูกต้อง เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปโดยเร็ว
อาจมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่างประเภทกันตามประเภทของศาล
สภาพการจ้างงาน
 ได้รับการบรรจุเป็น ข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้พิพากษาก่อนผู้ได้รับคะแนนต่ำลงมาตามลำดับแห่งบัญชีสอบคัดเลือก
ผู้ประกอบอาชีพผู้พิพากษา จะมีบัญชีอัตราเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตุลาการ แตกต่างตามประเภทศาล และตำแหน่ง
ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาจะมีอัตราเงินเดือน 14,850 - 16,020 บาท
ผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาประจำศาลถึงอธิบดีผู้พิพากษา(ศาลชั้นต้น) จะมีอัตราเงินเดือน 21,800 - 57,190 บาท และมีเงินประจำตำแหน่งแตกต่างกันไป
ผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคถึงประธานศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ถึงรองประธานศาลฎีกาจะมีอัตราเงินเดือน 57,190 - 62,000 บาท และมีเงินประจำตำแหน่งแตกต่างกันไป
ผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา จะมีอัตราเงินเดือน 64,000 บาท และมีเงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท ทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาจจะต้องเข้าเวรในวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุด เพื่อทำหน้าที่ ลงนามคำสั่งในหมายศาล ในกรณีที่ต้องดำเนินทันทีไม่สามารถรอจนถึงวันทำการได้
สภาพการทำงาน
 ผู้พิพากษามีห้องทำงานที่มีสภาพเหมือนห้องทำงานทั่วไป และเมื่อต้องทำหน้าที่ตัดสินคดีความ จะต้องนั่งบังลังก์ปฏิบัติหน้าที่พิพากษา เป็นประธานในห้องตัดสินคดีความ
อาชีพผู้พิพากษา อาจจะต้องปฏิบัติงานประจำศาลในต่างจังหวัด โดยเฉลี่ยจะปฏิบัติหน้าที่ประมาณ 3-4 ปีในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีบ้านพักผู้พิพากษาประจำในทุกจังหวัด หรืออาจจะปฏิบัติหน้าที่ประจำศาลในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประกาศของคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
 ผู้พิพากษา ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
ไม่เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบรูณ์ เป็นนิติศาสตร์บัณฑิต หรือสอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับเนติบัณฑิตยสภาจากสำนักเนติบัณฑิตยสภา
ผู้ที่จะประกอบผู้พิพากษา-Judges ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้คือ : การดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาตามพระราช-บัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 นั้น บุคคลผู้ประสงค์จะเข้า รับราชการเป็นผู้พิพากษามีได้ 3 ทางคือ
1. สมัครสอบคัดเลือก ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์
2. สมัครทดสอบความรู้ ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์
3. สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษต้องอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์
ผู้ที่จะเข้าเป็นผู้พิพากษาโดย 3 ทางดังกล่าวข้างต้น ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 26 กำหนดว่าต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย เช่นต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิดไม่เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นๆของรัฐ เป็นต้น และสำหรับผู้สอบคัดเลือกตามข้อ1 ต้องมีคุณวุฒิ และได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ดังต่อไปนี้
1. เป็นนิติศาสตร์บัณฑิต หรือสอบไล่ได้ปริญญา หรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจาก ต่างประเทศ ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
2. สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และ
3. ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเป็น จ่าศาล รองจ่าศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือพนักงานคุมความประพฤติของศาลยุติธรรม พนักงานอัยการ นายทหารเหล่าพระธรรมนูญ ทนายความ หรือประกอบวิชาชีพอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมาย ตามที่ ก.ต.กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปีทั้งนี้ให้ ก.ต. มีอำนาจออกระเบียบกำหนด เงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพนั้นๆ ด้วย
หลักเกณฑ์ และวิธีการสมัครสอบคัดเลือก ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนดโดยประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา (พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 27)
ผู้สมัครทดสอบความรู้ตามข้อ 2 ต้องมีคุณวุฒิและได้ประกอบวิชาชีพดังต่อไปนี้
1. สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
2. มีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
ก. สอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ โดยมีหลักสูตรเดียว ไม่น้อยกว่าสามปี ซึ่ง ก.ต. เทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือสอบได้ปริญญาเอกทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่ง ก.ต. รับรอง
ข. สอบไล่ได้ปริญญา หรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ โดยมีหลักสูตรเดียวไม่น้อยกว่าสองปี หรือหลายหลักสูตรรวมกันไม่น้อยกว่าสองปี ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ตามมาตรา 27 (3) (ประกอบวิชาชีพเป็นจ่าศาล พนักงานอัยการ ฯลฯ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี)
ค. สอบไล่ได้ปริญญาโททางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่ง ก.ต. รับรอง และได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ในมาตรา 27(3) เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
ง. เป็นนิติศาสตร์บัณฑิตชั้นเกียรตินิยม และได้ประกอบวิชาชีพเป็นอาจารย์ใน คณะนิติศาสตรในมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
จ. เป็นนิติศาสตร์บัณฑิต และเป็นข้าราชการศาลยุติธรรม ที่ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายในตำแหน่งตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกปี และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมรับรองว่ามีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความรู้ความสามารถดี และมีความประพฤติดีเป็นที่ไว้วางใจว่าจะปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการได้
ฉ. สอบไล่ได้ปริญญาโท หรือปริญญาเอกในสาขาวิชาที่ ก.ต. กำหนด และเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต และได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ในมาตรา 27 (3) หรือได้ประกอบวิชาชีพตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี หรือ
ช. สอบไล่ได้ปริญญาตรี หรือที่ ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีในสาขาวิชาที่ ก.ต.กำหนดและได้ประกอบวิชาชีพตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพนั้น และเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต
ให้ ก.ต. มีอำนาจออกระเบียบกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพตาม (2) (จ) (ฉ) และ (ช) ด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการสมัครทดสอบความรู้ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 28) ส่วนผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษ ตามข้อ 3 ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
1. มีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
ก. เป็น หรือเคยเป็นศาสตราจารย์ หรือ รองศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ
ข. เป็น หรือเคยเป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
ค. เป็น หรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ หรือข้าราชการประเภทอื่นในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกอง หรือเทียบเท่าขึ้นไป
ง. เป็น หรือเคยเป็นทนายความมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี
2. สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
3. เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ดีเด่นในสาขาวิชากฎหมายตามที่ ก.ต.กำหนด
4. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีบุคลิกภาพ มีความประพฤติ และทัศนคติเหมาะสมแก่ การปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการ
หลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกพิเศษ ให้ ไปตามระเบียบที่ ก.ต.กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (พระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 29)
โอกาสในการมีงานทำ
 ตำแหน่งผู้พิพากษาถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ เป็นงานที่เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สิน และชีวิตของประชาชนพลเมือง และทำงานในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ มีบัลลังก์นั่งสูงกว่าข้าราชการธรรมดา แม้ปัจจุบันนี้ความคิดดังกล่าวจะลดน้อยลงเนื่องจากจำนวนผู้พิพากษามากขึ้น อีกทั้งฐานะในทางสังคม และเกียรติภูมิของข้าราชการฝ่ายอื่น ตลอดจนพ่อค้านักธุรกิจสูงขึ้น แต่ตำแหน่งผู้พิพากษาก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ เพราะฉะนั้นผู้พิพากษาจึงต้องดำรงตนให้น่าเชื่อถือ ดังนั้นกิจการบางอย่างซึ่ง ขัดกับงานในตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือทำให้เป็นที่ระแวงสงสัยในความเป็นกลาง หรือความเป็นธรรม เช่น รับปรึกษาคดีให้บุคคลทั่วไป หรือรับทำงานนอกเวลาหารายได้พิเศษเลี้ยงครอบครัว แม้จะเป็นงานสุจริตกฎหมายก็ห้ามไว้มิให้กระทำ เพราะการกระทำเช่นนั้นอาจกระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษา
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
 ผู้ประกอบผู้พิพากษา-Judges ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเมื่อมีความชำนาญ และประสบการณ์จะสามารถได้รับการเลื่อนขั้น ตำแหน่งตามสาย-งานไปได้จนถึงตำแหน่งบริหารของข้าราชการตุลาการ ประธานศาลฎีกา
การประกอบการอื่นเพื่อหารายได้พิเศษ แม้จะเป็นงานสุจริตกฎหมายก็ห้ามไว้มิให้กระทำ เนื่องจากผู้พิพากษาต้องดำรงตนให้น่าเชื่อถือ ไม่ควรทำให้เป็นที่ระแวงสงสัยในความเป็นกลางหรือความเป็นธรรม และสำหรับผู้พิพากษา-Judgesอัตราเงินเดือนจัดได้ว่าสูงกว่าข้าราชการสังกัดอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งเป็นอัตราเงินเดือนที่ปรับใหม่ให้เหมาะสมกับภาวะสังคม
อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
 ทนายความ ที่ปรึกษาทางกฏหมาย นิติกร อาจารย์มหาวิทยาลัย
แหล่งข้อมูลอื่น ๆ
 สภาทนายความ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะนิติศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม http://www.moj.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น