หน้าที่ 1 - ผู้พิพากษาเป้าหมายของชาวนิติศาสตร์
ผู้พิพากษาเป้าหมายของชาวนิติศาสตร์
ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาคณะนิติศาสตร์ได้กลายเป็นคณะยอดฮิตที่ มีผู้สนใจเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นิติศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของสังคม เป็นกรอบ เป็นกติกาให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
งานวิชาชีพที่เกี่ยวใช้ความรู้ทางด้านนิติศาสตร์นั้นมีอยู่มากไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายให้กับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ทนายความ นิติกรในหน่วยงานต่างๆ อัยการหรือที่เรียกว่าผู้ทำหน้าที่ทนายแผ่นดิน เป็นต้น แต่ดูเหมือนว่าเป้าหมายสูงสุดของคนเรียนนิติศาสตร์ส่วนใหญ่จะมุ่งเป้าไปที่ตำแหน่งผู้พิพากษา ผู้ซึ่งต้องค่อยทำหน้าที่ตัดสินอรรถคดี เพื่อผดุงความยุติธรรมให้แก่สังคม
อาชีพผู้พิพากษาถือว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีหน้ามีตา ทั้งหากเมื่อเทียบรายได้กับข้าราชการในหน่วยงานอื่นดูเหมือนว่าข้าราชการตุลาการจะมีรายได้ที่สูงกว่าการเป็นข้าราชการในกรมกองอื่น ทั้งอาชีพนี้เป็นหนึ่งในสามของการใช้อำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจอันสูงสุดในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ร่วมกับ อีกสองอำนาจ อย่างนิติบัญญัติและบริหาร ตำแหน่งผู้พิพากษาจึงเป็นเป้าหมายของชาวนิติศาสตร์ส่วนใหญ่ แต่ใช่ว่าจะสามารถเป็นกันได้ง่ายๆ แม้การคัดเลือกผู้พิพากษาในแต่ละปีนั้นไม่ได้เป็นการสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกเอาผู้มีคะแนนสูงสุดในการบรรจุเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา(ก่อนจะได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) แต่เป็นการสอบให้ผ่านเกณฑ์ ที่ สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) กำหนด แต่กระนั้นในแต่ละปีก็มีผู้สอบได้ในหลักร้อยเท่านั้นเอง และการจะมีคุณสมบัติครบได้สิทธิสอบในการคัดเลือกนั้นปริญญานิติศาสตร์บัณฑิตเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ
บันไดขั้นแรกสู่บังลังค์ผู้พิพากษา
บันไดขั้นแรกของการก้าวสู่บัลลังค์ผู้พิพากษาคงหนีไม่พ้นการต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในคณะนิติศาสตร์ ซึ่งมีเปิดสอนเกือบทุกมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เอกชน มหาวิทยาลัยเปิด หรือแม้กระทั่งในส่วนภูมิภาคก็มีราชภัฎประจำจังหวัด เปิดสอนอยู่อย่างครบครัน ส่วนจะเลือกเรียนที่ไหนนั้นก็คงจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆประการของผู้เรียน การเรียนในคณะนิติศาสตร์ในระดับปริญญาตรีมีหลักสูตรสี่ปี
ไม่เพียงแต่เด็กมัธยมปลายที่ก้าวเข้ารั้วมหาลัยในฐานะน้องใหม่เฟรชชี่เท่านั้นที่หันมาสนใจเรียนนิติศาสตร์เพิ่มขึ้นแต่นิติศาสตร์ยังกลายเป็นคณะยอดฮิตของคนทำงานที่ต้องการความรู้เพิ่มเติม และมองหาปริญญาใบที่สอง มีหลายจะสถาบันที่เปิดสอนคณะนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต ที่ยอดฮิตก็อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เปิดรับให้ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาอื่นมาศึกษาได้โดยมีหลักสูตร สาม ปี
นิติศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของสังคมแม้ผู้เรียนอาจจะไม่ได้หวังไกลไปถึงบัลลังค์ผู้พิพากษาแต่ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ได้รับจากสาขาวิชานี้ก็สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันและดูเหมือนว่าชาวนิติศาสตร์ส่วนใหญ่เกือบครึ่งเลือกเรียนในคณะนี้ จะมุ่งเป้าไปที่ตำแหน่งผู้พิพากษาเป็นอันดับหนึ่ง แม้ว่าในแต่ละปีจะมีผู้ผ่านการสอบคัดเลือกและได้รับการบรรจุแต่งตั้งเพียงหลักร้อยเท่านั้น แต่การคัดเลือกผู้พิพากษา นั้นกลับไม่ใช่การสอบแข่งขัน เอาคะแนนสูงสุดแต่จะเรียกว่าเป็นระบบการสอบแข่งขันกับตัวเองก็คงไม่ผิดนัก คือหากสามารถสอบผ่านเกณฑ์ที่ก.ต.กำหนดไว้ก็สามารถเข้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาได้
เนติบัณฑิต
เมื่อได้รับวุฒินิติศาสตร์บัณฑิตแล้ว เส้นทางของการผู้พิพากษาจะว่าใกล้ก็คงไม่ถูกนัก เพราะการจะมีคุณสมบัติครบถ้วนและเป็นผู้มีสิทธิสอบคัดเลือกนั้นยังต้องประกอบด้วย หลักเกณฑ์อีกหลายประการ และด่านทดสอบสำคัญอีกประการหนึ่งคือการต้องผ่านหลักสูตรการอบรมกฎหมายจากเนติบัณฑิตเสียก่อน
ไม่ว่าจะจบระดับ นิติศาสตร์บัณฑิตมาจากที่ไหนแต่หากใฝ่ฝันจะนั่งบัลลังค์เป็นผู้พิพากษาแล้วละก็บันไดขั้นต่อมาคือการเข้าศึกษาในเนติบัณฑิต โดยจะรับสมัครผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในคณะนิติศาสตร์และต้องผ่านการทดสอบความรู้ในกฎหมายอันประกอบด้วย กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา โดยมีหลักสูตรหนึ่งปีแบ่งออกเป็นสองภาคการศึกษา ซึ่งมักจะเรียกกันว่ากฎหมายสี่มุมเมือง หรือที่เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่ากฎหมายสี่ขา
การศึกษาในระดับเนติบัณฑิตมีหลักสูตรหนึ่งปีเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับประกาศณียบัตรจากเนติบัณฑิตสภาแม้จะมีหลักสูตรเพียงแค่ปีเดียว แต่ ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ในการเรียนจบเพียง 1 ปีตามกำหนดหากมีการเตรียมตัวไม่ดีเพียงพอเพราะเหมือนการสอบที่ต้องประมวลความรู้ระดับปริญญาตรีทั้งหมดมาใช้สอบ
แต่ก็ยังมีข้อดีกว่าเมื่อสอบผ่านไหนขาไหนแล้วก็สามารถนำมาเก็บสะสมไว้เพื่อใช้สอบได้ในปีต่อไปจนครบทั้งสี่ขา ก็จะมีสิทธิ์สอบปากเปล่า โดย เป็นการถามตอบ หลักกฎหมาย แบบสัมภาษณ์
เก็บอายุงาน
คุณสมบัติที่สำคัญอีกประการของผู้มีสิทธิสอบคัดเลือกในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาคือการเก็บอายุงาน
สามารถเลือกได้สองทาง ทางแรกคือการต้องมีประสบการณ์ในกาทำงานทางด้านกฎหมายมาไม่น้อยกว่าสอง ปี ในตำแหน่งดังต่อไปนี้
1จ่าศาล,รองจ่าศาล
2. ข้าราชการ พนักงานเทศบาลหรือลูกจ้างส่วนราชการปฏิบัติงานในหน้าที่นิติกร
3. เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
4. เจ้าพนักงานบังคับคดี
5. พนักงานคุมประพฤติ
6. อัยการ
7. นายทหารเหล่าพระธรรมนูญ
8.อาจารย์นิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ
9. พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
10.เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน ป.ป.ป.
11. ลูกจ้างกระทรวงยุติธรรมทำหน้าที่พนักงานคุมประพฤติ หรือพนักงานบังคับคดี
12. นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน (ส.ต.ง.)
13.ข้าราชการรัฐสภาสามัญปฏิบัติงานในหน้าที่นิติกร
14.พนักงานรัฐวิสาหกิจหรือพนักงานในสถาบันการเงินที่ ก.ต.รับรอง
หรืออีกทางคือการเก็บคดี ในทางนี้อาจจะใช้เวลาที่น้อยกว่าวิธีแรก แต่การที่เป็นทนายเก็บคดีได้นั้น ต้องผ่านการอบรม จากสภาทนายความก่อน ซึ่งมีทั้งการสอบภาคทฤษฎี หากผ่านแล้วก็ตจะได้สอบภาคปฏิบัติ และสอบปากเปล่าเป็นอันดับสุดท้ายเมื่อได้รับใบอนุญาตว่าความหรือที่เรียกว่าตั๋วทนาย ก็สามารถใช้เก็บคดีเพื่อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาในลำดับต่อไปได้
การสอบคัดเลือกแบ่งเป็นสามสนาม ซึ่งสามรถอธิบายหลักเกณฑ์พอสังเขปได้ดังนี้

ที่มารูปภาพ http://www.vcharkarn.com/uploads/173/174113.jpg
สนามใหญ่
ใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 26 หรือกล่าวโดยสรุปคือ คือ ต้องจบการศึกษาระดับ นิติศาสตร์บัณฑิต ได้รับประกาศณียบัตรจากเนติบัณฑิตสภา มีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ มีอายุงานครบตามข้อกำหนด สนามนี้เป็นช่องทางที่มีผู้สนใจสมัครสอบเป็นจำนวนมาก
สนามเล็ก
คุณสมบัติโดยทั่วๆไปจะเหมือนกับสนามใหญ่แต่เปิดโอกาสให้ผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาโทในคณะนิติศาสตร์สามารถเข้าสอบแข่งขันได้ ซึ่งเน้นในสาขาวิชาเฉพาะด้านซึ่งก.ต. จะผู้เป็นกำหนดกฎระเบียบในการเปิดสอบสนามเล็กออกมาเช่น ต้องมีความรู้ ในเฉพาะด้าน เช่น
- กฎหมายอาญา
- กฎหมายแพ่ง
- กฎหมายลักษณะพยาน กฎหมายล้มละลาย กฎหมายงิธีพิจารณาความอาญา วิธีพิจารณาความแพ่ง
เป็นต้น
การคัดเลือกพิเศษหรือที่เรียกว่า สนามจิ๋ว
การสอบในลักษณะนี้จะเปิดสอบเมื่อคณะกรรมการตุลาการเห็นสมควร ซึ่งผู้สมัคร ต้องมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ดีเด่นในสาขาวิชากฎหมายที่ ก.ต. กำหนดเท่าที่ผ่านมาๆมักจะกำหนดให้มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญา โทจากต่างประเทศ จึงจะมีสิทธิสอบ
สำหรับเหลักเกณฑ์การคัดเลือกสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จาก พรบ มาตรา 26 31 ว่าด้วย การสอบคัดเลือก การทดสอบความรู้ และการคัดเลือกพิเศษ และประกาศของก.ต.
แม้จะมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้วแต่อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ต้องการจะก้าวขึ้นสูบัลลังค์ศาลต้องพึงระวังคือการประพฤติปฏิบัติตน เพราะหน้าที่ ที่ต้องค่อยตัดสินผู้อื่นนั้นคงไม่เหมาะแน่หากตนเองก็เคยต้องโทษมาแล้วมีหลายๆกรณีที่เด็กนิติศาสตร์พลาดไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำให้ประวัติด่างพร้อยและหมดโอกาสสอบไปอย่างน่าเสียดาย
แม้ภาพสะท้อนของสังคมไทยกับระบบอุปถัมภ์จะมีปรากฏอยู่อย่างดาษดื่นในเกือบทุกแวดวงแต่การสอบคัดเลือกผู้ช่วยผู้พิพากษาก็ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นการแข่งขันกับความสามารถของตัวผู้สอบเอง และมีระเบียบที่รัดกุมมากพอดังนั้นเส้นทางสายนี้จึงเป็นหนทางที่ใฝ่ฝันของหลายๆคนที่อยากจะประกอบอาชีพนี้ ตำแหน่งผู้พิพากษาเป็นอาชีพที่มีเกียรติมีหน้ามีตา แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้พิพากษาทุกคนย่อมมีอยู่ในจิตสำนึกและขาดไปเสียไม่ได้คือความยุติธรรมที่ใช้เป็นหลักค้ำยันสังคมเพราะหน้าที่ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบถึงคนส่วนใหญ่ในสังคมและสามรถชี้ผิดชี้ถูกได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น